สินค้าฉลากเขียว
เลือกซื้อ เลือกใช้ สินค้า ฉลากสีเขียว
เพื่อรักษาโลกให้มีสีเขียวไปอีกนาน
ความใส่ใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยมือน้อย ๆ ของเราผู้เป็นพลเมืองธรรมดาของโลกกระทำโดยรู้อะไรแค่ไหนก็พยายามปฏิบัติตนให้ได้เช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะในครัวเรือน ใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ ประหยัดน้ำมันด้วยการนั่งรถเมล์หรือคาร์พูล ประหยัดแก๊สและพลังงานต่าง ๆ พยายามปลูกต้นไม้ในบ้านและที่ทำงาน ฯลฯ แต่...แต่...เราก็อยากทราบว่ายังมีสิ่งใดที่เราจะสามารถทำได้อีก เพราะภาวะโลกร้อนได้มาถึงชีวิตพวกเราอย่างใกล้ตัวแล้ว นั่นคือภัยแล้งที่มาอย่างเร็วและรุนแรงมากในปีนี้
ปรากฏการณ์เรือนกระจกทำลายชั้นโอโซนเกิดจากการเผาทำลายวัสดุที่ย่อยสลายยากและกระบวนการผลิต ผลติภัณฑ์จากอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้การเพิ่มจำนวนพลเมืองโลกทำให้การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างรวดเร็วในจำนวนมหาศาล การผลิตสินค้าให้ได้จำนวนมากด้วยวิธีการที่ทันสมัยทำให้เกิดสารพิษตกค้างมากมาย ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมนับแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๓ ถึง พ.ศ.๒๕๔๒ ทั่วโลกมีการผลิตของเสียอันตรายถึง ๔๐๐ ล้านตันต่อปี โดยมาจากอุตสาหกรรมผลิตสารเคมี การผลิตพลังงานการทำเหมือง อุตสาหกรรมกระดาษและเยื่อกระดาษอุตสาหกรรมเครื่องหนังและสิ่งทอ เป็นต้น ของเสียเหล่านี้มีวิธีการกำจัดอย่างไรถึงจะมีผลเสียน้อยที่สุด
มลพิษรวมทั้งสารเคมีตกค้างจากขั้นตอนการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการบริโภคเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การสะสมของกรด การสูญพันธ์ของชนิดพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งพืชและสัตว์ และเกิดปัญหาสุขอนามัยในหมู่มนุษย์ ผลกระทบจากภาคธุรกิจจึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า “ผลิตภัณฑ์สีเขียว” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปล่อยสารเคมีหรือกากสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมประหยัดพลังงานและทรัพยากรทั้งในระหว่างการผลิต การขนส่ง และการใช้งาน อีกทั้งไม่เป็นภาระในการกำจัดหลังทิ้งและไม่ก่อให้เกิดขยะมากนัก
ฉลากสีเขียว (Green label หรือ Eco-label) คือฉลากที่มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน ผลิตภัณฑ์เหล่านี้หมายถึง สินค้า และบริการหลายประเภท ยกเว้น ยา เครื่องดื่ม และอาหาร
การมีเครื่องหมายฉลากสีเขียวติดอยู่กับสินค้าจะเป็นทางเลือกใหม่ของเราในการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้น นอกจากจะมีคุณภาพแล้ว ยังเน้นคุณค่าทางสิ่งแวดล้อมด้วยผู้บริโภคที่มีความประสงค์จะช่วยรักษาสภาพแวดล้อมจะได้เลือกซื้อได้ถูกต้อง
ในส่วนของผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายจะได้รับประโยชน์ในแง่ของกำไร เนื่องจากมีการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมากขึ้นผลักดันให้ผู้ผลิตรายอื่น ๆ ต้องแข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือบริการของตนในด้านเทคโนโลยีโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการยอมรับของประชาชน และส่งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจแก่ผู้ผลิตระยะยาว
เยอรมนีเป็นประเทศแรกที่เริ่มใช้ฉลากเขียวเป็นเครื่องมือทางการตลาด เพื่อช่วยป้องกันรักษาธรรมชาติผ่านทางการผลิตและการบริโภคของผู้ผลิตและประชาชนทุกคน ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ มากกว่าสี่สิบประเทศทั่วโลก ได้มีการจัดทำโครงการฉลากสีเขียวขึ้น สำหรับประเทศไทย คณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Business Council for Sustainable Development : TBCSD) ได้ริเริ่มโครงการฉลากสีเขียวขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๖ โดยได้รับความเห็นชอบและความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และองค์กรเอกชนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตอุตสาหกรรมและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำหน้าที่เป็นเลขานุการ
ในการกำหนดเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเขียวจะแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโดยทั่วไปจะคำนึงถึง
- การจัดการทรัพยากร ทั้งที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Renewable Resources) และที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Nonrenewable Resources) อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- การลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่งการบริโภค และการกำจัดทิ้งหลังใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ
- การนำขยะมูลฝอยทั่วไปและขยะอันตรายกลับมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น (Reuse) หรือ หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
ปัจจุบันมีข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ฉลากเขียวแล้ว ๒๖ ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระดาษบรรจุภัณฑ์ กระดาษชำระ กระดาษพิมพ์เขียน ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปทำจากพลาสติกที่ใช้แล้ว หลอดฟลูออเรสเซนต์ ตู้เย็น สีอิมัลชัน เครื่องสุขภัณฑ์ ถ่านไฟฉาย เครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ รถยนต์ ฯลฯ
หากเรายังยังผลิตและพากันใช้สินค้าแบบเดิม ๆ ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา เช่น หลอดไฟที่การผลิตไม่มีการควบคุมปริมาณปรอทและไม่มีมาตรการคืนซากเมื่อเลิกใช้แล้วจึงมีสารปรอทตกค้างทำให้เราอาจเจ็บป่วยด้วยความผิดปกติทางระบบประสาทและสมอง
ดังนั้น เราจึงควรช่วยกันสนับสนุนให้เลือกซื้อสินค้าที่ติดสัญลักษณ์ฉลากสีเขียวกันให้มาก เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตทำการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้มีการใช้พลังงานรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติน้อยลง ทำให้โลกของเราใบนี้มีแต่สีเขียวไปได้อีกนานเท่านาน .
หนังสือสกุลไทย ปีที่ ๕๔ ฉบับที่ ๒๗๘๗
ประจำวันอังคาร วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๑ หน้า ๑๐๒